1.โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza หรือ Flu)
โรคไข้หวัดใหญ่ หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า influenza เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอย่างฉับพลัน เชื้อที่เป็นต้นเหตุ คือ influenza virus มีอยู่ 2 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ influenza A และ B ส่วน สายพันธุ์ C ไม่นับเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เพราะมีความรุนแรงน้อย และไม่มีความสำคัญในการระบาด
โรคไข้หวัดใหญ่ติดต่ออย่างไร?
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่กระจายอยู่ตามละอองฝอยในอากาศที่ออกมาจากการไอ หรือจามของผู้ป่วย คนทั่วไปสามารถได้รับเชื้อโดยการหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเกิดการแบ่งเซลล์และทำให้ป่วยได้ภายใน 18 - 72 ชั่วโมงหลังจากรับเชื้อ
ความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดธรรมดา
Common cold (ไข้หวัดธรรมดา) มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ เช่น โคโรนาไวรัส (Corona virus) และ ไรโนไวรัส (Rhinovirus) มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ได้ แต่โดยทั่วไปไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการไอจาม น้ำมูกไหล เจ็บคอ คันคอ เป็นอาการเด่น และไม่ค่อยมีไข้และอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
เหตุผลที่ต้องแยกระหว่างไข้หวัดใหญ่กับไข้หวัดธรรมดาเพราะไข้หวัดใหญ่มีอาการที่รุนแรงและเกิดยาวนานกว่าไข้หวัดธรรมดา อีกทั้งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงบ่อยกว่าด้วย โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอาจส่งผลให้ถึงแก่ชีวิตได้ เช่น ติดเชื้อปอดบวม ทำให้ระบบหายใจล้มเหลวได้
สายพันธุ์ของโรคไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่เป็นไข้หวัดที่มีระดับความรุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดาแต่อาการเริ่มแรกมักไม่แตกต่างกันนัก อาการของแต่ละคนยังแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อ ไข้หวัดใหญ่แบ่งได้เป็น 2 สายพันธุ์หลักๆ โดยในแต่ละสายพันธุ์จะแบ่งตระกูลย่อยได้ออกมาอีกเป็น 4 ชนิดด้วยกัน
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แบ่งออกเป็น A Michigan (H1N1) และ A Switzerland (H3N2) เป็นไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง หากแพร่ระบาดแล้วจะควบคุมได้ยากกว่าชนิดอื่นๆ เชื้อที่ตรวจพบในร่างกายมีความเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ได้สูง และสามารถแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้ด้วย
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B แบ่งออกเป็น B Colorado (Victoria lineage) และ B Phuket (Yamagata lineage) เป็นไวรัสที่จะพบเชื้อได้ในคนเท่านั้น อาการไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A ส่วนมากจะเกิดการแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาว เพราะสภาพแวดล้อมที่เชื้อไวรัสชนิดนี้ชอบคือ อากาศเย็นและแห้ง โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนมกราคมที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ กลุ่มเสี่ยงที่หากได้รับเชื้อแล้วอาการจะรุนแรง คือ ผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจ เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ
ความแตกต่าง ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ B
หากเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ขึ้นมา อาการของสายพันธุ์ A จะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ B อยู่มาก เพราะสามารถกลายพันธุ์ แลกเปลี่ยนสายพันธุกรรม ระหว่างไวรัสของมนุษย์กับหมู หรือ นกและสัตว์ปีกต่างๆ ทำให้เกิดไวรัสลูกผสมที่มีโอกาสระบาดในวงกว้างและรุนแรงมาก เช่น ไวรัส A H1N1 (2009) เกิดจากการผสมของไวรัสสายพันธุ์ของคน หมู และนก ที่เกิดการระบาดขึ้นทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว แล้วสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ด้วย
ผู้ป่วยที่ติดไวรัสสายพันธุ์ A จึงต้องระมัดระวังตัวเอง ใส่ผ้าปิดจมูก หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้คนแออัด เพราะหากคนอื่นได้รับเชื้อและรักษาไม่ถูกวิธีก็เสี่ยงที่ไวรัสจะเกิดการกลายพันธุ์ได้ง่าย การรักษาก็จะทำได้ยุ่งยากมากขึ้น
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่มักมีอาการของไข้สูง ตัวร้อน รู้สึกหนาว มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร ขมในคอ มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้ง คัดจมูก ซึ่งอาการต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอยู่นาน 6 - 10 วัน อาการจะค่อยๆ ทุเลาลง อาจไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ในบางรายอาจพบติดเชื้อที่ปอดอย่างรุนแรง หายใจลำบาก หอบเหนื่อย และอาจเสียชีวิตได้
สำหรับอาการของเด็กจะคล้ายคลึงกับผู้ใหญ่ เพียงแต่ในเด็กมักจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และถ่ายเหลวมากกว่า ในเด็กเล็กจะสังเกตได้จากอาการร้องไห้งอแง อยู่ไม่นิ่ง บางรายอาจมีอาการคัดแน่นจมูก ในเด็กทารกมักมีอาการง่วงซึมและไม่ค่อยดื่มนม และอาจมีอาการหายใจลำบากได้
อาการแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่
อาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย คือ โรคไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ หูชั้นกลาง และหูชั้นในอักเสบ รวมทั้งเกิดภาวะปอดอักเสบ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดรุนแรงได้ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่?
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น รวมถึงผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันและผู้ที่น้ำหนักเกินเกณฑ์
การวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่
การวินิจฉัยการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จะใช้การซักประวัติ สอบถามอาการต่างๆ เป็นหลัก โดยเฉพาะหากเกิดในช่วงที่มีไข้หวัดใหญ่ระบาด การส่งตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการเก็บสารคัดหลั่งจากโพรงทางด้านหลังของช่องจมูก หรือจากเสมหะ และหากมีข้อสงสัยว่า เกิดปอดอักเสบ แพทย์จะทำการเอกซเรย์ปอดด้วย
วิธีการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่
การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ส่วนมากจะรักษาตามอาการ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยาต้านไวรัสโดยเฉพาะ หรือผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาเป็นรายๆ ไป เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวม จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง หากมีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และมีน้ำมูก ควรรีบมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ และสำหรับผู้ป่วยทั่วไป หากมีอาการป่วยแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ควรรีบมาพบแพทย์เช่นกัน
การปฏิบัติตัวเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่
- พบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา
- ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
- ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และหมั่นล้างมือบ่อยๆ
- เช็ดตัวลดไข้บ่อยๆ หากมีไข้สูง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เพราะไข้อาจกระตุ้นให้ชักได้ ควรใช้น้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดา ห้ามใช้น้ำเย็นจัด หรือน้ำแข็งเช็ดตัว
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
วิธีการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สามารถปฏิบัติตามสุขบัญญัติแห่งชาติ โดยเน้นในเรื่องของการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากิจกรรมผ่อนคลายเครียด และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หมั่นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน โดยควรเพิ่มปริมาณของผักและผลไม้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอาหารต้านหวัดต่างๆ
- หมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนหยิบอาหารรับประทาน และเมื่อผ่านการสัมผัสหรือจับต้องสิ่งของชนิดต่างๆ
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีและสัมผัสกับผู้ป่วย ไม่ควรอยู่ในที่ที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
- หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่
- ไม่ควรใช้มือขยี้ตา เพราะอาจทำให้เกิดอาการอักเสบ แถมยังเป็นช่องทางในการทำให้เชื้อโรคสัมผัสกับเยื่อบุตาได้ง่าย
- สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ สามารถดูแพ็คเกจวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่นี่
การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
เนื่องจากไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ การฉีดวัคซีนก่อนช่วงฤดูระบาดจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ซึ่งจำเป็นต้องฉีดซ้ำทุกปี เพราะวัคซีนในแต่ละปีจะสามารถป้องกันการติดเชื้อเชื้อไวรัสที่เหมือน หรือคล้ายกับเชื้อที่ใช้ทำวัคซีนในปีนั้นๆ ซึ่งหากติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่วัคซีนที่ฉีดก็ไม่สามารถป้องกันได้
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทำจากเชื้อที่ตายแล้ว ไม่มีผลในการก่อโรค จึงมีความปลอดภัยสูง ที่สำคัญวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกชนิดมีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน สามารถช่วยป้องกันโรคได้ 70 - 80% และลดความรุนแรงของโรคได้ด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่หน้าฝนแล้ว กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เชิญชวนประชาชนใน 7 กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ฟรี โดยเป็นวัคซีนแบบ 3 สายพันธุ์ (A Michigan (H1N1), A Switzerland (H3N2) และ B Colorado (Victoria lineage)) เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบบ่อยในไทย ซึ่งมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันอาการรุนแรงและลดการเสียชีวิตได้
7 กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน
- หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์มากกว่า 4 เดือน
- เด็ก อายุ 6 เดือน - 2 ปี
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค คือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
- โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
- โรคอ้วน น้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมี BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึง 31 สิงหาคม 2562 ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนใกล้บ้านที่ร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามวันและสถานที่ดังกล่าว หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ใครบ้างที่สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้
สามารถฉีดได้ทุกเพศทุกวัยซึ่งสามารถฉีดได้ตลอดปี โดยในเด็กสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ควรต้องฉีดอย่างยิ่ง และกลุ่มเสี่ยงสูงต่างๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น
ผลข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ผลข้างเคียงที่พบมากที่สุด คือ อาการปวด บวมแดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน บางคนอาจมีไข้ต่ำๆ และปวดเมื่อยเนื้อตัว ซึ่งควรหายได้เองภายใน 1 - 2 วันหลังฉีด
ส่วนกรณีที่รุนแรงถึงแก่ชีวิต เกิดขึ้นได้น้อยมาก คือ แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงที่เรียกว่า อะนาไฟแล็กซิส (Anaphylaxis) อาการจะปรากฏภายใน 2 - 3 นาที ถึง 2 - 3 ชั่วโมงหลังฉีด โดยอาจมีอาการหายใจไม่สะดวก เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงดัง ลมพิษ ซีดขาว อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งควรรีบพบแพทย์โดยด่วน
อีกกรณีของผลข้างเคียงจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่พบได้น้อยมาก คือ กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre syndrome) เป็นความผิดปกติของเส้นประสาท ซึ่งจะมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีอาการอ่อนแรงนานเป็นสัปดาห์ หรือเกิดขึ้นถาวรก็ได้
ภูมิต้านทานจะคงอยู่นานเท่าไร?
การศึกษาพบว่าภูมิคุ้มกันจะค่อยๆ ลดลงภายในเวลาไม่กี่เดือนหลังจากได้รับวัคซีน หรือติดเชื้อ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ภูมิคุ้มกันจะคงอยู่แค่ฤดูเดียวหลังจากฉีดวัคซีน หรือได้รับเชื้อและไม่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ในฤดูต่อไปได้ ดังนั้นการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปีจะช่วยลดโอกาสเป็นไข้หวัดใหญ่ได้มาก
ข้อห้ามในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน
- คนที่มีประวัติแพ้ไข่อย่างรุนแรง เพราะ วัคซีนผลิตโดยใช้ไข่จากสัตว์
- ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง
- หากมีไข้ หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือโรคประจำตัว มีอาการกำเริบ ควบคุมไม่ได้ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน
- กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ สามารถรับการฉีดวัคซีนได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น